สังคมดิจิทัลต้องการสมรรถนะที่แตกต่างจากสังคมอุตสาหกรรม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จในสภาพแวดล้อมที่พลิกโฉม การผลิตบัณฑิตของสถาบันอุดมศึกษาในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องสร้างความสามารถของบัณฑิตในระหว่างการศึกษา แทนการ “เติมเต็ม” เนื้อหาวิชาการเพียงอย่างเดียว นั่นคือสถาบันอุดมศึกษาต้องปรับกระบวนทัศน์การออกแบบกระบวนการสอนจากโภชนาการทางปัญญา ซึ่งเป็นการอุดมศึกษาเชิง “ผลผลิต (Output)” เป็นเชิงพัฒนาความสามารถ และ/หรือเปลี่ยน พฤติกรรมของนิสิต/นักศึกษา ซึ่งเป็นการอุดมศึกษาเชิง “ผลลัพธ์ (Outcome)”
รศ.ดร. บัณฑิต ทิพากร
ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่
เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย
การส่งเสริมสมรรถนะและประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาเฉพาะทางทั้งในระดับปริญญาโทหรือเอก อาจไม่เคยศึกษาวิชาเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นเมื่อมาสอนนักศึกษาจึงเคยชินกับประสบการณ์ที่ตนเองได้รับ เช่น การบรรยายที่เป็น Passive Learning ไม่รู้วิธีเขียนแผนการเรียนรู้และการประเมินผล เป็นต้น
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เล็งเห็นความจำเป็นของการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีสมรรถนะด้านการจัดการศึกษาแบบมุ่งผลลัพธ์ ให้สามารถใช้เทคนิคการจัดการเรียนการสอนและการถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ทั้งในระดับหลักสูตรและรายวิชา
ผศ. ดร.ศศิธร สุวรรณเทพ
คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
Collaboration
KMUTT + PSU
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมมือกับสํานักการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดโครงการโดยใช้กลไกความร่วมมือของสถาบันการศึกษาที่สนใจพัฒนาอาจารย์ให้มีสมรรถนะด้านออกแบบหลักสูตรและรายวิชาตามแนวทางการจัดการศึกษาแบบมุ่งผลลัพธ์ (Outcome-based Education)