กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทั้งในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยผสมผสานความเก่าแก่และความทันสมัยไว้อย่างมีเอกลักษณ์ การเดินเท้าท่องเที่ยวในย่านเก่าของกรุงเทพฯ จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สะท้อนมิติทางสังคม ศิลปะ และความศรัทธาซึ่งหล่อหลอมรากฐานของเมืองตลอดหลายศตวรรษ กิจกรรม “Culture Trip” ใช้แนวคิดการจัดการเรียนการสอนแบบ Place-Based Learning ที่พาผู้เรียนลงพื้นที่ย่านเก่าในกรุงเทพมหานครให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ชุมชน และสังคมของชาวกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการเกิดขึ้นของย่านต่างๆ ที่มีที่มาแตกต่างกัน ผ่านประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวจริง เพื่อให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในรูปแบบของวิถีชีวิต เส้นทางการเดินเท้าท่องเที่ยวจากศาลหลักเมืองไปยังเสาชิงช้า เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐ ศาสนา และวิถีชีวิตของประชาชน ผ่านสถาปัตยกรรมและบริบทของพื้นที่ที่มีความหมายลึกซึ้ง โดยเริ่มต้นการเดินทาง ณ ศาลหลักเมือง

ศาลหลักเมือง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของกรุงรัตนโกสินทร์ ถูกก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 ในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ตามคติความเชื่อเรื่อง “หลักเมือง” ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพื่อความมั่นคงของเมือง เสาหลักเมืองแรกสร้างขึ้นจากไม้ชัยพฤกษ์ ประกับด้วยไม้แก่นจันทน์ และมียอดเสารูปบัวตูม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการสร้างเสาหลักเมืองใหม่จากไม้สัก ประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ พร้อมทั้งประดับด้วยยอดเม็ดทรงมัณฑ์และการผูกดวงชาตาของพระนครเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ นอกจากนี้ ศาลหลักเมืองยังเป็นที่สถิตของเทพารักษ์ 5 องค์ ได้แก่ พระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, พระกาฬไชยศรี, เจ้าพ่อเจตคุปต์ และเจ้าพ่อหอกลอง ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าปกป้องคุ้มครองเมือง
ไม่ไกลจากศาลหลักเมือง คือ กระทรวงกลาโหม (เดิมเรียกว่า ศาลาว่าการกลาโหม) อาคารสี่เหลี่ยมคางหมูสีเหลืองสดใสที่มีถนนล้อมรอบ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรปแบบนีโอ-ปัลลาเดียน (Neo-Palladian) มีลักษณะเด่นในด้านผังที่มีรูปทรงเกือบสี่เหลี่ยม โดยชั้นที่ 2 มีระเบียงขนาดใหญ่ยื่นออกมาจากตัวอาคาร รองรับด้วยเสากลมขนาดใหญ่หัวเสาแบบโรมันเรียงเป็นแถว แถวละ 6 ต้น ด้านหน้าของระเบียงประดับด้วยสัญลักษณ์สามเหล่าทัพ ได้แก่ กงจักร, สมอ และปีก วางอยู่บนพื้นรูปสี่เหลี่ยมสีทอง ข้างซ้ายและขวาของสัญลักษณ์ประดับด้วยอักษรคำโคลง “สยามานุสติ” ด้านหน้าของอาคารเรียงรายด้วยปืนใหญ่โบราณ ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งความแข็งแกร่งของกองทัพไทยในอดีต

หันหลังไปในทิศทางของพระบรมมหาราชวัง จะพบกับประตูสวัสดิโสภา หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “ประตูทอง” ซึ่งเป็นประตูสำหรับให้ราษฎรเข้ามาสักการะพระแก้วมรกต แม้ประตูนี้จะมีการสร้างตั้งแต่สมัยเริ่มต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ภายหลังได้รับการบูรณะแก้ไขความเสียหายจากการทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประตูสวัสดิโสภาที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร การออกแบบลวดลายซุ้มเรือนยอดประตูโดยพระพรหมวิจิตร ซึ่งทำให้ลวดลายของประตูนี้มีความแตกต่างจากประตูอื่น ๆ ด้วยศิลปะไทยในสมัยคณะราษฎรที่ลดความอ่อนช้อยลง เน้นความเรียบง่าย ดูเข้มแข็ง และสง่างาม
เดินต่อไปตามถนนสนามไชย จะพบพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชวังสราญรมย์ ซึ่งเป็นพระราชวังอิฐถือปูน 2 ชั้นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างในสไตล์นีโอปัลลาเดียน โดยมีเสาในรูปแบบกรีกและโรมัน หน้าต่างชั้นล่างเป็นซุ้มโค้ง ขณะที่ชั้นบนมีรูปทรงสี่เหลี่ยมก่อหินสองชั้นให้ดูมั่นคงและหนักแน่น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2409 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชดำริที่จะใช้เป็นที่ประทับภายหลังจากการสละราชสมบัติแก่สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ณ พื้นที่ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับวัดราชประดิษฐ์ ซึ่งพระราชทานนามว่า “สราญรมย์” แม้ว่าการก่อสร้างจะยังไม่แล้วเสร็จในสมัยนั้น แต่ต่อมาจึงได้รับการปรับปรุงในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบวิลล่าอิตาลี ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นอลังการ


เดินเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสราญรมย์ เส้นทางนี้นำไปสู่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อสร้างวัดสำหรับคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย โดยในสมัยนั้น พระองค์ทรงผนวชเป็นพระวชิรญาณภิกษุ ซึ่งมีการปรับปรุงระเบียบวินัยสงฆ์ให้เคร่งครัดและลดทอนพิธีกรรมที่ไม่สอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนา ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่บนรอยต่อระหว่าง ‘สยามเก่า’ กับ ‘สยามใหม่’ โดยผสมผสานงานจิตรกรรมฝาผนังเทพชุมนุมแบบดั้งเดิม แต่ปรับเทคนิคจากการเขียนเรียงแถวบนพื้นหลังสีแดงหรือดำ ให้เป็นลักษณะของเทพชุมนุมที่เหาะบนท้องฟ้าสีน้ำเงินและเมฆสีขาว รวมถึงภาพเรื่องราวพระราชพิธีสิบสองเดือนซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บรรยายถึงพระราชพิธีสำคัญในแต่ละเดือน อาทิ พระราชพิธีตรียัมปวายหรือโล้ชิงช้า และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์บนฝาผนังที่สามารถใช้ศึกษาเรื่องราวของกรุงเทพฯ ในอดีต
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายถึงเหตุการณ์สำคัญในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 นั่นคือ เหตุการณ์สุริยุปราคา โดยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณสุริยุปราคาเต็มดวงล่วงหน้า 2 ปีอย่างแม่นยำ เหตุการณ์เกิดขึ้น ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 แต่ว่าจิตรกรรมฝาผนังจะใช้พื้นหลังเป็นพระบรมมหาราชวังแทน เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงส่องกล้องโทรทรรศน์บริเวณหน้าพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ใกล้กับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถึงแม้จะไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ก็ยังคงเป็นฉากที่สมพระเกียรติ

เดินออกจากวัดราชประดิษฐ์ ทางประตูด้านหลังฝั่งถนนราชินี จะพบอนุสาวรีย์หมูและสะพานปีกุน ตั้งอยู่ริมคลองคูเมืองเดิม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2456 เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) มีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ซึ่งตรงกับปีที่พระองค์พระราชสมภพในรอบปีขาล ตามวันเฉลิมพระชนมายุของพระองค์ ในปีดังกล่าว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงร่วมกับพระยาพิพัฒน์โกษา (เศเลสติโน ซาเวียร์) และพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ซึ่งเกิดในปีเดียวกัน จัดสร้างสะพานปีกุนและอนุสาวรีย์สหชาติขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ สะพานปีกุนนี้เป็นสะพานสำหรับคนเดินที่ใช้ข้ามคลองคูเมืองเดิม โดยเชื่อมระหว่างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ฝั่งถนนอัษฎางค์ กับวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ฝั่งถนนราชินี
เดินข้ามสะพานปีกุนแล้วพบกับวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2412 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาล ตามประเพณีโบราณของพระมหากษัตริย์ไทย วัดแห่งนี้มีมหาสีมาขนาดใหญ่จัดทำเป็นเสาศิลาจำหลักรูปสีมาธรรมจักร ซึ่งตั้งอยู่บนเสาที่เรียงรายตามกำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ การตั้งมหาสีในลักษณะนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลี่ยลาภผลให้แก่สงฆ์ที่อยู่ในสีมาเดียวกันโดยทั่วถึง ซึ่งการกระทำสังฆกรรมในวัดนี้สามารถทำได้ในขอบเขตของสีมา เช่น การบวชพระ แม้จะไม่กระทำในพระอุโบสถอย่างวัดอื่น ๆ แต่กระทำในขอบเขตแห่งสีมาก็สามารถเป็นพระภิกษุตามพระวินัยซึ่งที่ได้รับการอนุมัติจากสงฆ์โดยพร้อมเพรียงกัน พระอุโบสถมีการผสมผสานศิลปะแบบไทยและยุโรป โดยภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบจากจีน ขณะที่ภายในตกแต่งด้วยศิลปะแบบโกธิก

นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักรของวัดในทิศตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสุสานหลวงเพื่อบรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารา เป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี เจ้าจอมมารดา รวมถึงพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ โดยสุสานนี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย อาทิ พระเจดีย์, พระปรางค์, วิหารแบบไทย, แบบขอม (ศิลปะปรางค์ลพบุรี) และแบบโกธิก จัดตั้งในสวนที่มีการปลูกต้นลั่นทมและพุ่มพรรณไม้หลากหลายอย่างสวยงาม โดยมีอนุสาวรีย์สำคัญ เช่น เจดีย์สีทอง 4 องค์ที่มีชื่อคล้องจองกัน ได้แก่ สุนันทานุสาวรีย์, รังษีวัฒนา, เสาวภาประดิษฐาน และสุขุมาลนฤมิตร์

เส้นทางในย่านเก่ากรุงเทพฯ นี้ไม่เพียงแต่เป็นการซึมซับประวัติศาสตร์และศิลปะเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการสัมผัสรสชาติของอาหารท้องถิ่นที่สืบทอดกันมายาวนาน ร้านอาหารในย่านนี้ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่รับประทานอาหาร แต่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของผู้คนในยุคสมัยต่าง ๆ อาทิ ร้าน “ข้าวหมูแดงนายชุน” ซึ่งยังคงรักษารสชาติดั้งเดิมของข้าวหมูแดง หมูกรอบ และกุนเชียงที่ปรุงด้วยกรรมวิธีเฉพาะตัว น้ำราดหวานเข้มข้นเสริมด้วยไข่ต้มยางมะตูมที่ลงตัว ร้าน “นายอ้วนเย็นตาโฟ” ที่ขึ้นชื่อเรื่องก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟสูตรเฉพาะ เสิร์ฟพร้อมลูกชิ้นปลาและเผือกทอดที่กรอบนอกนุ่มใน “บ้านขนมปังขิง” ต้นตระกูลพราหมณ์แห่งเสาชิงช้าที่นำเสนอขนมปังสังขยาและเครื่องดื่มสูตรโบราณที่ให้รสชาติละมุนละไม “ครัวอัปษร” ซึ่งมีชื่อเสียงด้านอาหารไทยรสจัดจ้านและวัตถุดิบคุณภาพ โดยมีเมนูอย่างไข่ฟูปู แกงเหลืองยอดมะพร้าว และผัดดอกขจรใส่ไข่ที่ขึ้นชื่อในรสชาติของเส้นใหญ่เหนียวนุ่ม “แซ่พุ้น” ข้าวหน้าไก่ราดซอสเข้มข้น เสิร์ฟคู่กับไข่ดาวและพริกน้ำส้มสูตรพิเศษ “ตาชัยก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย” สูตรก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแท้ ๆ ที่มีรสหวาน เค็ม เปรี้ยว เผ็ดครบถ้วน พร้อมถั่วลิสงคั่วและกากหมูเพิ่มความหอม “ก.พานิช” ร้านขนมไทยเจ้าดังที่สืบทอดสูตรจากรุ่นสู่รุ่น โดยข้าวเหนียวมะม่วงและข้าวเหนียวสังขยาที่มีความนุ่มและหอมคัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน “คั่วไก่ป้าเพียร” ร้านริมคลองวัดราชบพิธ ที่โดดเด่นด้วยเมนูคั่วไก่ใช้เตาถ่านและกระทะทองเหลือง ผสมผสานกับเส้นใหญ่ผัดจนหอมเกรียมกับไก่นุ่มและไข่ที่ให้รสชาติเป็นเอกลักษณ์ “รัฐพรไอศกรีมกระทิสด” ร้านไอศกรีมที่ยังคงกรรมวิธีการทำแบบโบราณ ทำให้เนื้อไอศกรีมมีความละเอียดและได้รสชาติหอมมันจากกะทิแท้ ทั้งไอศกรีมกะทิสดดั้งเดิมและไอศกรีมเกล็ดหิมะเนื้อทรายสูตรเฉพาะ การได้ลิ้มลองอาหารที่สะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารในแต่ละพื้นที่ อาหารเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นจานอาหาร แต่ยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงรสนิยม รากเหง้า และวิถีชีวิตของผู้คนในย่านเก่ากรุงเทพฯ ที่สืบทอดมายาวนาน
หลังจากการสำรวจและลิ้มรสอาหารท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์แล้ว จุดนัดพบต่อไปคือ เทวสถานสำหรับพระนคร หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “โบสถ์พราหมณ์” สำนักพราหมณ์พระราชครูในสำนักพระราชวัง สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวสถานสำหรับพระนครและเสาชิงช้า เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ อาทิ พิธีโล้ชิงช้า, พิธีตรียัมปวาย และพิธีโกนจุก ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อโบราณที่มีความเกี่ยวพันกับราชสำนักไทยและพิธีกรรมของศาสนาฮินดู ที่มีอิทธิพลต่อโครงสร้างพิธีกรรมของราชสำนักไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา
ระหว่างทางก่อนถึงจุดหมายสุดท้าย แวะพักที่ร้าน “ใบชาอ๋องอิวกี่” ร้านขายชาเก่าแก่ที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์การค้าของชาวจีนในกรุงเทพฯ โดยจำหน่ายชาแท้จากจีนหลากหลายชนิด ทั้งชาอู่หลง, ชาดำ, ชาขาว และชาผู่เอ๋อร์ ซึ่งได้รับการคัดสรรใบชาคุณภาพสูงตามกรรมวิธีดั้งเดิม นอกจากจะเป็นแหล่งรวมใบชาแล้ว ร้านดังกล่าวยังเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมการดื่มชาแบบกงฟูฉา พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกชาและวิธีชงที่เหมาะสม การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมที่มีประวัติยาวนานนับพันปี โดยมีตำนานกล่าวถึงจักรพรรดิ เสินหนง (Emperor Shen Nung) ผู้ค้นพบชาโดยบังเอิญขณะต้มน้ำร้อนใต้ต้นชา ทำให้ชาเป็นเครื่องดื่มสำคัญในวัฒนธรรมจีนและแพร่หลายไปทั่วโลก ในประเทศไทย การดื่มชาได้รับอิทธิพลจากชาวจีน โดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว และกวางตุ้ง โดยชาแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามกรรมวิธีการผลิต อาทิ ชาเขียวที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก ชาอู่หลงที่หมักบางส่วน ชาดำที่หมักเต็มที่ ชาขาวผลิตจากยอดอ่อน และชาผู่เอ๋อร์ที่มีการบ่มทำให้มีรสชาติเข้มข้นและซับซ้อนยิ่งขึ้นตามอายุ


เดินย่ำไปจนถึงสถานที่สุดท้าย วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงดำรัสให้สร้างขึ้น ดั้งเดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โดยมีการประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เนื่องจากพระวิหารหลวงของวัดแห่งเดิมหักพังลง ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้ต้องต้องตากแดดกรำฝน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงดำรัสให้อัญเชิญเข้ามาประดิษฐานในพระวิหารของวัดสุทัศนเทพวราราม ด้วยสถาปัตยกรรมที่สืบทอดมาจากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากพระวิหารมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยพระวิหารคดหรือพระระเบียงที่ประดับประดาภายในด้วยลวดลายดอกไม้และภาพนกบิน จำนวนพระพุทธรูปปั้นภายในจำนวน 156 องค์
อีกสถานที่สำคัญของวัดสุทัศนเทพวรารามคือ “สัตตมหาสถาน” ซึ่งตั้งอยู่ริมกำแพงวัดที่ถนนอุณากรรณในเขตพุทธาวาส สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจำลองแทนพระธาตุเจดีย์ “สัตตมหาสถาน” หมายถึงสถานที่สำคัญ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับหลังจากตรัสรู้ โดยเรียงลำดับดังนี้ พระรัตนบัลลังก์, บัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้, พระอนิมสเจดีย์ที่ประทับขณะดูพระมหาโพธิ์โดยมิได้กระพริบพระเนตร, พระรัตนจงกรมเจดีย์ที่ทรงนิมิตจงกรมขึ้น, พระรัตนฆรเจดีย์ที่ประทับนั่งขัดสมาธิในเรือนแก้วซึ่งเทวดานิรมิตถวาย, พระอัชปาลนิโครธที่ประทับใต้ร่มไม้ไทร และพระมุจลินทพฤกษ์ที่ประทับนั่งขัดสมาธิภายใต้ร่มไม้จิก
ตลอดระยะทางของการเดินเท้าครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการสำรวจสถานที่ทางประวัติศาสตร์และศิลปะเท่านั้น แต่ยังเป็นการซึมซับบรรยากาศ ความศรัทธา และรากเหง้าของกรุงเทพฯ ที่ยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน ผู้เรียนได้เรียนรู้และมีความเข้าใจด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ชุมชนและสังคมในพื้นที่ย่านเก่าของกรุงเทพมหานคร ผ่านประสบการณ์จริงของตนเอง การเดินเท้าผ่านเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์เช่นนี้ จึงเป็นบทเรียนที่ล้ำค่า ซึ่งไม่สามารถพบได้ในตำราเรียน แต่สามารถสัมผัสได้ผ่านประสบการณ์โดยตรงในแต่ละก้าวที่เดินผ่าน

Authors
-
เรวัติ อยู่สุข [Writer]
เรามุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง มีโลกทัศน์กว้างไกล เข้าใจธรรมชาติตนเอง ผู้อื่น และสังคม เป็นผู้ใฝ่รู้ สามารถคิดอย่างมีเหตุผล สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารความหมายได้ดี มีคุณธรรม ตระหนักในคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงตนอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี
View all posts นักพัฒนาการศึกษา
-
ณฤธัช ไม้เกตุ [Photographer]
เรามุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง มีโลกทัศน์กว้างไกล เข้าใจธรรมชาติตนเอง ผู้อื่น และสังคม เป็นผู้ใฝ่รู้ สามารถคิดอย่างมีเหตุผล สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารความหมายได้ดี มีคุณธรรม ตระหนักในคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงตนอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี
View all posts นักเทคโนโลยีการศึกษา
-
ไกรศิลา กานนท์ [Team Teaching]
เรามุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง มีโลกทัศน์กว้างไกล เข้าใจธรรมชาติตนเอง ผู้อื่น และสังคม เป็นผู้ใฝ่รู้ สามารถคิดอย่างมีเหตุผล สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารความหมายได้ดี มีคุณธรรม ตระหนักในคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงตนอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี
View all posts นักพัฒนาการศึกษา